ภาระหน้าที่ของบริษัทที่ต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มในฐานะนิติบุคคล
ดาวใช้งานดาวใช้งานดาวไม่ได้ใช้งานดาวไม่ได้ใช้งานดาวไม่ได้ใช้งาน
 

ผู้ที่ต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม จะต้องเป็นผู้ที่เข้าเงื่อนไขหรือลักษณะการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ไม่ว่าจะเป็นบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคล หากเข้าเงื่อนไขก็ต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งในบทความนี้เราจะมาพูดถึงบริษัทที่ต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มในฐานะนิติบุคคล เมื่อจดทะเบียนแล้วบริษัทจะมีหน้าที่อย่างไร เช่น จัดทำรายงานภาษีซื้อ ภาษีขาย และยื่นต่อกรมสรรพากร

 

ภาระหน้าที่ของบริษัทที่ต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มในฐานะนิติบุคคล
หน้าที่ของบริษัทที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มในฐานะนิติบุคคล

 

นิติบุคคล หมายถึง กลุ่มบุคคลหรือองค์กรตามที่กฎหมายสมมติให้มีสภาพบุคคลเช่นเดียวกับบุคคลธรรมดา แต่ไม่ใช่บุคคลธรรมดา ดังนั้น นิติบุคคลจึงมีความสามารถ สิทธิและหน้าที่เช่นเดียวกับบุคคลธรรมดา เช่น สามารถทำสัญญาต่าง ๆ ได้ สามารถเป็นเจ้าของสินทรัพย์นั้น ๆ ได้ หรือแม้กระทั่งสามารถเสียภาษีเหมือนกับบุคคลธรรมดาได้

ผู้ที่มีหน้าที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม คือ ผู้ที่ประกอบกิจการทั้งที่เป็นบุคคลธรรมดา คณะบุคคล หรือนิติบุคคลใด ๆ ที่มีลักษณะดังต่อไปนี้
1. ผู้ประกอบกิจการที่มีรายรับจากการขายสินค้าหรือให้บริการเป็นปกติธุระ เกินกว่า 1.8 ล้านบาทต่อปี
2. ผู้ประกอบการอยู่นอกราชอาณาจักร และได้ขายสินค้าหรือให้บริการในราชอาณาจักรเป็นปกติธุระ โดยมีตัวแทนอยู่ในราชอาณาจักร ให้ตัวแทนเป็นผู้มีหน้าที่รับผิดชอบการจดทะเบียน
3. ผู้ประกอบการที่ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มตามกฎหมาย แต่มีความประสงค์ที่จะขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม

หลังจากจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มแล้ว ผู้ประกอบการมีหน้าที่หลักๆ ดังนี้
1. จัดทำใบกำกับภาษี โดยออกทุกครั้งเมื่อขายสินค้าหรือให้บริการและเกิดจุดความรับผิดทางด้านภาษี เช่น ขายสินค้าจุดความรับผิดทางด้านภาษี คือ ส่งมอบ หรือ บริการจุดความรับผิดทางด้านภาษี คือ ชำระเงิน
2. จัดทำรายงานที่เกี่ยวข้อง นั่นคือ รายงานภาษีซื้อ รายงานภาษีขาย
3. นำยอดภาษีขายและภาษีซื้อส่งกรมสรรพากรพร้อมแนบด้วย แบบ ภ.พ. 30 ในทุกเดือนภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดไป (อาจมีขยายเวลาบางกรณี)

ข้อดี
1. จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มทำให้บริษัทมีความน่าเชื่อถือมากขึ้น
2. กิจการที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มสามารถขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มได้
3. เพิ่มโอกาสทางธุรกิจ เช่น ลูกค้าอาจซื้อสินค้ากับกิจการมากขึ้นเพราะสามารถนำไปลดภาระภาษีฝั่งลูกค้าได้

ข้อเสีย
1. ต้องทำเอกสารเพื่อยื่นต่อกรมสรรพากรทุกเดือน
2. สินค้าที่ซื้อมามีราคาแพงขึ้น
3. หากซื้อสินค้ากับผู้ขายที่ไม่ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม กิจการก็ไม่สามารถนำมาขอคืนภาษีได้

จะเห็นได้ว่า การจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มจะมีทั้งข้อดีและข้อเสีย แต่หากผู้ประกอบการหรือนิติบุคคลเข้าเงื่อนไขที่จะต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มตามที่กล่าวมาข้างต้น จะต้องทำการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม หากไม่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มจะมีโทษตามกฎหมายที่ว่า “ผู้ประกอบการซึ่งมีหน้าที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มประกอบกิจการโดยไม่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม” มีโทษ จำคุกไม่เกิน 1 เดือนหรือปรับไม่เกิน 5,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ

อ้างอิง


"ผู้มีหน้าที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม และกำหนดเวลาการจดทะเบียน". [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก :www.rd.go.th/7061.html

"รู้ได้อย่างไรว่า เมื่อไหร่ต้องจดภาษีมูลค่าเพิ่ม (จด VAT)?". [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก :www.itax.in.th/media/%E0%B9%80%E0%B8%A1%E0%B8%B7%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B9%84%E0%B8%AB%E0%B8%A3%E0%B9%88%E0%B8%95%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%88%E0%B8%94-vat/


"ภาษีมูลค่าเพิ่มคืออะไร? แล้วใครเป็นคนจ่าย". [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก:

peakaccount.com/blog/%E0%B8%A0%E0%B8%B2%E0%B8%A9%E0%B8%B5%E0%B8%A1%E0%B8%B9%E0%B8%A5%E0%B8%84%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B9%80%E0%B8%9E%E0%B8%B4%E0%B9%88%E0%B8%A1-%E0%B8%84%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%AD%E0%B8%B0%E0%B9%84%E0%B8%A3/