
ทำไมรัฐจึงผลักดัน การใช้เครื่อง EDC (อีดีซี)
ปัจจุบันการใช้จ่ายแต่ละครั้งก็ดูจะง่ายดาย สะดวกและรวดเร็วไม่ต้องเสียเวลาในการใช้จ่าย อย่างบัตร ATM (เอทีเอ็ม) ต่างๆก็เป็นบัตร Debit (เดบิต) ที่สามารถรูดได้ ไม่จำเป็นต้องกดเงินสดในการจ่ายชำระค่าสินค้า ถึงแม้ว่าประชาชนส่วนใหญ่จะคุ้นเคยกับการใช้บัตรเดบิตเพื่อถอนเงินสดจากเครื่องเอทีเอ็มมาเพื่อใช้สอยในชีวิตประจำวันมากกว่าการใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อชำระค่าสินค้าและบริการที่ร้านค้าโดยตรง รวมทั้งร้านค้าที่รับบัตรยังมีไม่แพร่หลายมากนัก แต่รัฐบาลก็มีการขยายการใช้บัตรมากยิ่งขึ้น เรียกว่าจะกลายเป็นสังคมไร้เงินสดอีกในไม่ช้า ซึ่งจะส่งผลทำให้ร้านค้าต่างๆทั้งขนาดใหญ่และเล็ก มีเครื่องรูดบัตร หรือ EDC (อีดีซี) เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชนเข้าถึงการใช้ได้งานและครอบคลุมทั่วประเทศ สนับสนุนให้ประชาชน ภาคธุรกิจ ภาครัฐ เข้าถึงบริการทางการเงิน/การชำระเงินได้อย่างแพร่หลาย
ล่าสุดกระทรวงการคลังก็ได้ทำการจัดบันทึกลงนามข้อตกลงร่วมกับกลุ่มธนาคาร จำนวน 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่ม Consortium ประกอบด้วย 5 ธนาคาร คือ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน), ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน), ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน), ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) และธนาคารธนชาต จำกัด(มหาชน) กลุ่มที่ 2 กลุ่มกิจการค้าร่วมโครงการอีเพเม้นท์ ประกอบด้วย 2 ธนาคาร คือ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) และธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) เดินหน้า National e-Payment (เนชั่นแนล อรเพลย์เม้นท์) เพื่อหวังให้ไทยก้าวเข้าไปใกล้สังคมไร้เงินสดมากยิ่งขึ้น โดยทั้ง 2 กลุ่ม จะร่วมกันติดตั้งเครื่อง EDC (อีดีซี) จำนวนรวมประมาณ 560,000 เครื่อง มีกำหนดการเสร็จภายในไตรมาส 1 ปี 2561 เมื่อรัฐบาลมีนโยบายสนับสนุนแบบนี้แล้วหลายๆท่านที่ยังมองไม่เห็นถึงประโยชน์ของการใช้บัตรเหล่านี้เราเลยนำความรู้ทางด้านประโยชน์ของ บัตรเครดิต และบัตรเดบิต มาแบ่งปัน ไปดูกันค่ะว่าประโยชน์ของ บัตรเครดิต และบัตรเดบิต มีอะไรกันบ้าง
ประโยชน์ของการจ่ายด้วยบัตรเครดิต และบัตรเดบิต คือ สามารถเป็นหลักฐานในการจับจ่ายซื้อของได้ ว่าเราจ่ายอะไรไปบ้าง ซึ่งการจ่ายด้วยบัตรนี้ จะมีข้อมูลของคุณอยู่ครบถ้วน อย่างไรก็ตาม บัตรเครดิตจะมีความคุ้มครองมากกว่าบัตรเดบิต เพราะมี พ.ร.บ.บัตรเครดิต หรือ พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจข้อมูลเครดิตให้การคุ้มครองผู้บริโภคอยู่ ยกตัวอย่างเช่น…
- ผู้ประกอบธุรกิจบัตรเครดิตมีหน้าที่แจ้ง เปิดเผย หรือให้ข้อมูลแก่ผู้ถือบัตร รวมทั้งการเตือนเกี่ยวกับการทุจริตต่างๆ ในการใช้ข้อมูลหรือใช้บัตรเครดิต และแจ้งให้ผู้ถือบัตรระวังการโจรกรรมข้อมูลเครดิต หรือการทำธุรกรรมที่ไม่ปกติ
- ห้ามมิให้ผู้ประกอบธุรกิจบัตรเครดิตเรียกเก็บเงินจากผู้ถือบัตรก่อนถึงวันครบกำหนด และให้ ธปท. กำหนดหลักเกณฑ์ให้ผู้ประกอบธุรกิจและผู้รับบัตร จัดให้มีศูนย์บริการลูกค้า ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ถือบัตร
ในขณะที่บัตรเดบิตก็มีการรักษาข้อมูลผู้บริโภคคล้ายๆ กับบัตรเครดิตค่ะ คือมี พระราชบัญญัติว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์คุ้มครองผู้บริโภคอยู่ ยกตัวอย่างเช่น…
- มาตรา 13 คําเสนอหรือคําสนองในการทําสัญญาอาจทําเป็นข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ก็ได้ และห้ามมิให้ปฏิเสธการมีผลทางกฎหมายของสัญญาเพียงเพราะเหตุที่สัญญานั้นได้ทําคําเสนอหรือคําสนองเป็นข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์
- มาตรา 14 ในระหว่างผู้ส่งข้อมูลและผู้รับข้อมูล การแสดงเจตนาหรือคําบอกกล่าวอาจทําเป็นข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ก็ได้
จากนโยบายเรียกได้ว่าส่งผลกระทบต่อหลายฝ่ายเลยทีเดียว ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานของรัฐ, ผู้ประกอบธุรกิจ, หรือแม้แต่ประชาชนคนไทยเองก็ตาม ในอีกไม่ช้าประเทศไทยก็จะกลายเป็น สังคมไร้เงินสด (Cashless Society) มากยิ่งขึ้นตามนโยบายของรัฐ ตามกระแสในหลายๆประเทศ ออกนอกบ้าน เที่ยว กิน ช๊อป ก็ไม่ต้องพกเงินสดให้เสี่ยงต่อการโดนโจรกรรมกันอีกแล้ว อีกทั้งยังทำให้ลดการใช้เงินสด ลดต้นทุนทั้งการผลิตและขนส่งเงินได้มหาศาลต่อปีอีกด้วย
แหล่งที่มา : www.mof.go.th
บทความโดย : https://www.mdsoft.co.th/ (บริษัทเอ็ม.ดี ซอฟต์ จำกัด)
บทความที่เกี่ยวข้อง : การจดทะเบียนผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์, โปรแกรมประกอบการยื่นแบบและชำระภาษีผ่านระบบอินเทอร์เน็ต
พัฒนาโปรแกรมบนเว็บ PHP บริการพัฒนา Joomla Extension พัฒนาและปรับแต่งเว็บบอร์ด